วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปิดฉากซีเกมส์ ครั้งที่ 25 "เวียงจันทน์เกมส์" 2009 และซีเกมส์ครั้งต่อไป ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเชีย

ในที่สุดกระถางคบเพลิงกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 "เวียงจันทน์เกมส์" ณ สนามกีฬาแห่งชาติ กม. 16 สปป.ลาว ได้ดับลง พร้อมการแสดงสุดประทับใจ ก่อนส่งมอบธงซีเกมส์ ให้กับ อินโดนีเซีย เจ้าภาพครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า

การแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "ซีเกมส์" ครั้งที่ 25 "เวียงจันทน์เกมส์" ณ ประเทศ สปป.ลาว ได้ดำเนินมาถึงวันสุดท้ายในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2552 ซึ่งพิธีปิดการแข่งขันจัดขึ้นเมื่อช่วงเวลา 16.30 น. ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กม.16 โดยมี บัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีลาว เป็นประธาน

ซึ่งพิธีปิดเริ่มต้นด้วยการขับร้องเพลงโดยศิลปินจาก 10 ชาติอาเซียนไล่ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดย ปาน ธนพร แวกประยูร นักร้องสาวชื่อดังได้เป็นตัวแทนจากประเทศไทยร่วมขับร้องเป็นคนที่ 8 ในเพลงที่มีชื่อว่า "ใจนำทาง" ก่อนจะร่วมร้องเพลง "สามัคคีซีเกมส์" ตามด้วยขบวนนักกีฬาจาก 11 ชาติ พาเหรดลงสู่พื้นสนามโดยแบ่งเป็นชนิดกีฬา และมีการรายงานผลการแข่งขันตลอดการแข่งขันที่ผ่านมา

จากนั้นจึงมีการดับไฟประจำการแข่งขันในกระถางคบเพลิง ก่อนเชิญธงชาติลาว และธงซีเกมส์ ลงจากยอดเสา โดยที่ สมสวาท เล่งสะหวัด ประธานจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งนี้จะส่งต่อให้กับ ริตา ซูโบโว ประธานคณะกรรมการโอลิมปิก และ แอนดี มาลาลันเกน รัฐมนตรีกีฬาของอินโดนีเซีย ในฐานะเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 26 ในปี 2011

ขณะการแสดงชุดแรกเป็นของ อินโดนีเซีย ที่เผยให้เห็นถึงศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นในแบบศรีวิชัย จากนั้นจึงมีการแสดงจากลาวชาติเจ้าภาพ มีทั้งหมด 5 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 “ม่างเครือเขากาด” เป็นการแสดงเกี่ยวกับตำนาน “ปู่เยอย่าเยอ” ในนิทานพื้นบ้านของลาวที่เล่าถึงเมืองแถน ที่ได้มี “เครือเขากาด” ยักษ์เครือหนึ่งได้ขึ้นไปถึงสวรรค์ และปกคลุมลงมาถึงพื้นดินจนบดบังแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ต่อมามี “ปู่เยอย่าเยอ” รับอาสาเจ้าเมืองแถนไปตัดทำลายเครือเขากาดนั้น และเนื่องจากเครือเขากาดมีขนาดใหญ่ทำให้ต้องใช้เวลาตัดอยู่นานถึง 3 เดือน 3 วันกว่าจะโค่นลงได้แต่เครือเขากาดก็ได้ล้มทับ “ปู่เยอย่าเยอ” เสียชีวิต จากนั้นก็ได้มีการสักการะเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของปู่เยอย่าเยอแต่นั้น มา

ชุดที่ 2 “บุญปีใหม่บ้านเฮา” เป็นการแสดงถึงงานเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของลาว ที่จะสื่อถึงขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งจะมีการแสดงพิธีรดน้ำดำหัว และรับคำอวยพรจากผู้หลักผู้ใหญ่

ชุดที่ 3 “บุญเซิ้งบั้งไฟ” เป็นการแสดงถึงชนเชื้อชาติลาวสองฝั่งโขงที่มีอารยธรรมมาแต่โบราณที่นำเอา “บั้งไฟ” ที่มีน้ำหนักมากขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพื่อขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้ประชาชนได้ทำการเกษตรปลูกข้าว จนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ชุดที่ 4 “บุญเซิ้งแข่งเรือ” เป็นการแสดงต่อจากชุด “บุญเซิ้งบั้งไฟ” โดยภายหลังจากที่ประชาชนได้ทำการเกษตรกรรมแล้ว ก็จะเป็นงานรื่นเริงเมื่อถึงเดือนตุลาคมตามหลักสากล หรือเดือน 11 ของลาวนั้น ที่จะมีงานประเพณีบุญแข่งเรือสร้างความสนุกสนานให้กับชาวบ้าน เกิดความสามัคคีก่อนเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร

ชุดที่ 5 “จับมือกันก้าวเดิน” เป็นการแสดงถึงการแข่งขันกีฬาที่จะมีทั้งความสุขสมหวัง และผิดหวัง แต่ก็สร้างมิตรภาพ จากนั้นจะเป็นการแสดง “ฟ้อนรำวง” ที่จะเป็นรำวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใช้นักแสดงถึง 8,000 คน เป็นชุดสุดท้าย ก่อนที่จะมีการจุดพลุที่ความสวยงามปิดฉากซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่กรุงเวียงจันทน์ อย่างเป็นทางการ

หลังจบการแสดงในพิธีปิด มีนี แก้วประเสริฐ หนึ่งในประชาชนชาวลาวที่เข้าชมเปิดเผยว่า "ซีเกมส์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคนลาวมีน้ำหนึ่งเดียวกัน และร่วมภาคภูมิใจกันทั้งประเทศที่ได้จัดซีเกมส์ครั้งแรก ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ใจจริงอยากให้มีเวลานานกว่านี้ แต่เมื่อปิดฉากลงแล้วก็อยากให้อยู่ในความทรงจำตลอดไป"

ขณะที่ แก้ว ไชยะวงศ์ แฟนกีฬาเจ้าถิ่นที่ร่วมเป็นสักขีพยานในสนามกล่าวว่า "มาดูพิธีปิดแทนพี่สาว แลกบัตรกันคนละครึ่ง วันนี้มาดูกัน 3 คนพ่อแม่ลูก อยากให้ครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของซีเกมส์ รู้สึกภูมิใจมากที่เป็นลาวได้เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ไม่รู้ว่าจะได้จัดซีเกมส์อีกครั้งเมื่อไร และคงไม่มีวันลืมได้เลย"

ที่มาข่าว http://manager.co.th/Sport/ViewNews.aspx?NewsID=9520000155050

Social Bookmarks:

Technorati del.icio.us Stumbleupon Reddit Digg it Facebook Twitter MySpace Yahoo! My Web Google Windows Live Gmail